
ไดโกกุ
ไดโกกุ เท็น “เทพผิวดำผู้ยิ่งใหญ่” (เทพมหากาลี) เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและความสุขอีกองค์หนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นที่มีพื้นฐานมาจากอินเดียเช่นเดียวกัน
เทพมหากาลี, มหายุค, หรือเทพผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ ล้วนเป็นองค์เดียวกัน และมีการปรากฏร่างที่น่าสะพรึงกลัว ชวนให้ระลุกถึงการทำลายล้าง เช่นเดียวกับพระศิวะ
บางตำนานพุทธศาสนากล่าวว่าท้าวเธอเป็นเทพแห่งสงครามและเข้ามาถึงญี่ปุ่นพร้อม ๆ กับศาสนา
ต่อมา มีเทพมหากาลีเกิดขึ้นอีกองค์หนึ่ง แตกต่างไปจากมหากาลีองค์แรก เทพที่เกิดทีหลังองค์นี้มักปรากฏตัวที่ระเบียงหรือตามหิ้งในครัวของอาราม องค์นี้ดูใจดีมีเมตตากว่าองค์แรก ความนิยมในตัวของเขาจึงเริ่มมีมากมาย ตั้งแต่จากอินเดียแผ่เข้าไปในจีน ไม่มีใครรู้ว่ามหากาลีทั้งสองนี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร หรือแตกต่างกันด้วยเหตุใด อย่างไรก็ตามเทพมหากาลีองค์หลังมีหน้าที่ปกป้องดินและอวยพรให้เกิดอาหาร และยังเป็นผู้รักษาทรัพย์สินของวัด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่ต้องการเพิ่มใหม่และยังเชื่ออีกว่าท้าวเธอสามารถให้พรให้คำอธิษฐานเป็นจริงได้
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 9 ผู้ก่อตั้งนิกายเทนได และชินกอนได้นำความเชื่อในตัวมหากาลีเข้ามาในญี่ปุ่น ยังคงรักษาคุณสมบัติในการเป็นเทพรักษาดินในอาณาเขตอารามของเขา และอวยพรให้ผู้คนในหมู่บ้านล้อมรอบ
รูปปั้นของเขาเป็นเทวรูปถือถุงทองสลักไม้ รูปของมหากาลีมักต้องมีการพ่นน้ำมันให้ไม้เป็นสีดำวาวสมชื่อเทพ
อย่างไรก็ตามช่วงนี้เองเป็นช่วงผนวกคุณลักษณะของมหากาลีเข้ากับเทพเดิมในญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ โอคูนินูชิ จ้าวแห่งแผ่นดินใหญ่เนื่องจากอักษรเขียนคำว่า ใหญ่ (หรือในภาษาถิ่นว่า โอคูนิ) อ่านเป็นสำเนียงจีนว่า ไดโกกุ เช่นเดียวกับการเขียนคำ เทพผิวดำผู้ยิ่งใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เทพทั้งสององค์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันในความเป็นจริง
โอคูนินูชิ “จ้าวแห่งแผ่นดินใหญ่” รับหน้าที่เป็นเทพที่จัดการ การใช้ผืนดินแถบอิซูโม ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของญี่ปุ่น ในช่วงที่คนญี่ปุ่นนับถือเพท้องถิ่นของตนเอง ครั้นเมื่อความเชื่อจากด้านตะวันออกและตะวันตกหลอมรวมเข้ามาด้วย โอคูนินูชิ “จ้าวแห่งแผ่นดินใหญ่ฎ ก็กลายเป็นเทพอุปถัมภ์ดินของญี่ปุ่นทั้งหมด
เช่นเดียวกับไดโกกุที่ได้รับหน้าที่เหมือนกันนี้
นิกายชินกอนทำรูปไดโกกุให้แต่งตัวเหมือนเทพ มือซ้ายถือถุงทองใบเล็ก ๆ ส่วนมือขวาถือแท่งพลอย
แต่นิกายไดกล้าหาญกว่า พวกเขาทำรูปไดโกกุสวมเสื้อผ้าของคนในยุคนั้น ใส่กางเกงหลวม ๆ รัดตรงใต้เข่า สวมเสื้อทูนิคและโพกผ้าคลุมผม แบกกระสอบทำด้วยฟางข้าวขนาดใหญ่เหมือนของชาวนาใช้ไว้ในมือซ้าย
ตกมาถึงราวศตวรรษที่ 15 – 16 คราวที่บิชามอนและเบ็นไซ เท็น กลายเป็นเทพแห่งโชคลาภ ไดโกกุก็ถูกปล่อยจากหน้าที่จัดการเรื่องดินให้มาร่วมกับเทพทั้งสอง เขารับหน้าที่เป็นเทพแห่งความมั่งคั่งและเป็นเทพอุปถัมภ์ของชาวนา
เมื่อมีผู้ศรัทธามากขึ้น ไดโกกุก็มีหน้าที่ต้องอำนวยพรตามคำขอมากขึ้น รูปของเขาจึงเริ่มต้องมีสมบัติติดตัวมากขึ้น ในชั้นแรกไดโกกุถือถุงทอง ต่อมาแบกกระสอบเข้า ถ้าเป็นปางปกติก็สองใบ ถ้าเป็นปางพิเศษก็แบกไว้มากกว่าสอง ไม่รวมที่กองอยู่แทบเท้า ต่อมาก็เพิ่มตะลุมพุกเล็กไว้ในมือขวาแทนเครื่องหมายการค้นพบสมบัติ
โดยปกติรูปของไดโกกุจะอยู่ในท่ายืนหรือนั่งอยู่บนฟ่อนข้าวที่ถูกหนูแทะกินไปหมด แต่ท่าทางของไดโกกุไม่ทุกข์ร้อนเพราะถูกหนูขโมยข้าวไปแล้ว เหตุว่าท้าวเธอมั่งคั่งนั่นเอง
ไดโกกุมีความสัมพันธ์กับอิบิสุจนมีคนกล่าวว่า เทพองค์นี้เป็นบิดาของเทพอิบิสุด้วย คนญี่ปุ่นชอบติดรูปของไดโกกุไว้ในครัว อาจจะเป็นเพราะเป็นเทพที่ไม่กลัวหนูก็ได้