
ฟูโด ไมยู
“ฟูโด ไมยู” เทพสำคัญหนึ่งในห้าของ “ไกได ไมยู” หรือคือกลุ่ม “วิทยาราชา” เทวะกลุ่มนี้พวกสาขาชินกอนนำมาเผยแพร่ในญี่ปุ่นเมื่อปีต้น ๆ ของศตวรรษที่ 9
ชินกอน กล่าวว่ากลุ่มเทวะห้าองค์นี้คือตัวตนของโทสะแห่งพระพุทธทั้งห้า นอกจากนั้นไมยูยังเป็นตัวตนแห่งความเมตตาที่อยู่คู่กับพระโพธิสัตว์ทั้งห้าด้วย
ไมยูมีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว แต่โดยเนื้อแท้ พวกนี้จะแสดงความโกรธเกรี้ยวตอบโต้แต่เฉพาะกับผู้ที่เต็มไปด้วยพลังความชั่วร้าย ที่แปลกกว่านั้นคือไมยูอาจตอบโต้อำนาจมืดด้วยความเมตตาในแบบเดียวกับพระพุทธต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน ชาวญี่ปุ่นอาจอธิบายได้อีกว่า ไมยูคือตัวตนแห่งความโกรธที่เกิดจากจิตอันเคลื่อนไปของผู้บูชาเองในเวลาที่พบอุปสรรค
รูปของฟูโด ไมยู เป็นรูปผู้ชายหน้าตาถมึงทึง หัวคิ้วขมวด ตาโปงออกมานอกเบ้า และฟันเหยินยื่นออกมาจากปาก ผมยาวปิดหน้ากว่าครึ่ง รอบศีรษะมีไฟเป็นรัศมีเชื่อกันว่าไฟนี้เป็นเครื่องเผาผลาญกิเลส รูปร่างของเขาเตี้ยล่ำ ผิวกายสีน้ำเงินคล้ำ ความเตี้ยของเขาเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ ในมือข้างหนึ่งถือดาบยาวไว้ใช้ควบคุมความโลภ ความโกรธ และอวิชชา มืออีกข้างหนึ่งถือเชือกไว้คอยไล่มัดผู้ต่อต้านพุทธ
รูปของฟูโดมีทั้งท่ายืนและท่านั่งบนหินที่กล่าวกันว่าแข็งกว่าเพชรเป็นเครื่องหมายของความแกร่ง ที่เบื้องหลังของเขามีรัศมีเป็นไฟลุกโซนแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์
รูปร่างทั้งมวลของเขาที่กล่าวถึงเป็นสิ่งที่เกิดจากคำอธิษฐานของฟูโด ไมยู นัยว่าเมื่อมองแล้วจะทำให้จิตใจแข็งแกร่งไม่หวั่นไหว
ฟูโด เป็นเทวะที่ถูกวางไว้ที่ตำแหน่งศูนย์กลางของไมยูทั้งห้า มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพระไดนิชิ โงไร ทำหน้าที่อุปถัมภ์ทั้งเจตนาอันแข็งแกร่งของศาสนา และช่วยอุปถัมภ์การรักษาสันโดษเป็นพิเศษ ฟูโด ไมยู ยังประพฤติตนเป็นพยานให้กับใครก็ตามที่ตั้งจิตอธิษฐาน
ยิ่งกว่านั้น หลังอำนาจอันน่าเกรงขามของฟูโด ไมยู ยังทำให้คนญี่ปุ่นเชื่อว่าเขาสามารถป้องกันชีวิตได้ พวกเขามักจะสวดมนต์อธิษฐานขอให้เขาปกป้องจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกิดจากสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด
เครื่องรางที่จารึกชื่อหรือรูปของเขาก็เชื่อกันว่าป้องกันโจรภัย อุบัติเหตุ และไฟไหม้ (เนื่องจากรูปของ ฟูโด ไมยู อยู่ท่ามกลางเปลวไฟ หมายความว่า ไฟไม่สามารถทำอันตรายเขาได้)